วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

สังคม

บทบาทหน้าที่ของรัฐสภา 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้รัฐสภามีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ การพิจารณาตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี และการให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1. ตรากฎหมาย ในความหมายของรัฐธรรมนูญนั้นถือว่ากฎหมายมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1) รัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งมีศักดิ์เท่ารัฐธรรมนูญ
2) พระราชบัญญัติ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติของพระมหากษัตริย์และรัฐสภา
3) พระราชกำหนด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นข้อยกเว้น โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
กฎหมายทั้ง 3 ประเภทนี้เท่านั้นที่เป็นความหมายของกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นถึงแม้จะเรียกว่ากฎหมาย แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่เป็นหลัก คือ พระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติของพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมขององค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งหมายถึง รัฐสภานั่นเอง ดังนั้น รัฐสภาจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ หรือจะยกเลิกกฎหมายอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงจะเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรนิติบัญญัติ แต่ก็มีข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญว่า ในสถานการฉุกเฉิน จำเป็นรีบด่วนบางเรื่อง อาจจะเรียกประชุมสภาไม่ทัน กระบวนการพิจารณากฎหมายจะยาว ก็ให้ออกเป็นพระราชกำหนดได้ โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ และต้องนำพระราชกำหนดนั้นไปให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ สำหรับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะตราขึ้นเป็นกฎหมายนั้น ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วจึงเสนอร่างนั้นต่อวุฒิสภาพิจารณา เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ การเปิดอภิปรายทั่วไป และการตั้งกระทู้ถาม
1) การเปิดอภิปรายทั่วไป
(1) การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. การไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยให้สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 
1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
2. การไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 
6 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้
(2) การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงโดยไม่มีการลงมติ
2) การตั้งกระทู้ถาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเรื่องเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน การบริการราชการแผ่นดินเรื่องใดที่เป็นปัญหาสำคัญ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเรืองที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนหรือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมว่าจะถามนายรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเรื่องนั้นโดยไม่ต้องระบุคำถาม
3. ให้ความเห็นชอบ ความเห็นชอบของรัฐสภา หมายความว่า เป็นความยินยอมสนับสนุนของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อให้ความเห็นชอบในต่างๆ ดังนี้
1) การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2) การสืบราชสมบัติ
3) การปิดสมัยประชุม
4) การเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
5) การให้ความเห็นชอบหรือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
6) การประกาศสงคราม
7) การทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ
ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและการสรรหา ด้วยมุ่งหวังว่า การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นปัจจัยส่งผลให้บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถมากกว่าที่เป็นอยู่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา อันจะส่งผลต่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลก็ดี ของสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ของข้าราชการระดับสูงก็ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วุฒิสภาจึงมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ หรือถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

รูปแบบของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญของประเทศไทย กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภา 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า สภาล่าง และสภาสูง เหตุผลที่จัดรูปแบบของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย 2 สภา ดังนี้
1. ช่วยให้เกิดการตรวจสอบ ยับยั้ง กลั่นกรอง ถ่วงดุล และรอบคอบ ในการออกกฎหมาย เนื่องจากอำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาคุ้มครองประชาชน ถ้าให้มีสภาเดียวอาจใช้อำนาจนั้นโดยไม่มีการพิจารณากลั่นกรอง ซึ่งอาจขาดความรอบคอบ เช่น ออกกฎหมายที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ ออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม เป็นต้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ การมีสองสภาช่วยกันพิจารณากลั่นกรอง ช่วยกันทักท้วง ยับยั้งหรือแก้ไขเพิ่มเติม โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้ได้กฎหมายที่สมเหตุสมผล ถูกต้อง ยุติธรรม ครอบคลุมทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติ หรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
2. ช่วยประนีประนอมและประสานความเข้าใจ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล ถ้ามีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาอาจรุนแรง และนำไปสู่การยุบสภาหรือสภาลงมติไม่ไว้ว่างใจรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือว่ากลุ่มตนเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง แต่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ จึงดูประหนึ่งว่ารัฐบาล คือ ผู้ที่เข้ามารับใช้หรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งพวกเขา ในกรณีเช่นนี้ การมีสภาที่สองอาจช่วยไกล่เกลี่ยประนีประนอมได้ เพราะสภาที่สองหรือวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่เคารพนับถือของคนในสังคม และเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย
สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกมาจากการการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และเลือกตั้งแบบสัดส่วน และวุฒิสภามีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายมากกว่าวุฒิสภา ให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่มากกว่าสภาผู้แทนราษฎรในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด เป็นต้น และให้สภาทั้งสองมีการประชุมร่วมกันในกรณีสำคัญ ๆ เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ การปรึกษาพระราชบัญญัติใหม่ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบและพระราชทานคืนมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญากับต่างประเทศ การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม เป็นต้น
รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน เป็นสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวน 80 คน และสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน การที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้ เพราะต้องการให้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนระหว่างหน้าที่นิติบัญญัติกับหน้าที่บริหารในฐานะที่เป็นรัฐบาล โดยทางอ้อมรัฐธรรมนูญนั้น เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มาจากบัญชีรายชื่อ ดำรงตำแหน่งในทางบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้สะดวกกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ เพราะไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม และไม่มีการเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในสภา จึงมีคนกล่าวขานถึงระบบเช่นนี้ว่าเลือกแบบสัดส่วนเหมือนเลือกว่าที่รัฐมนตรี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งประชาชนเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 76 คน และมาจากการสรรหาจำนวน 74 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น